
ศรัทธา ปราสาทผึ้ง ออกพรรษาสกลนคร ศรัทธา ปราสาทผึ้ง ออกพรรษาสกลนคร
วันออกพรรษา ตามพุทธตำนานว่าด้วยเทโวโรหนะสูตร คือเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมามนุษยโลก หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศน์โปรดพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก ในหลาย ๆ พื้นที่เมืองพุทธ หลายจังหวัดเตรียมจัดการกันคึกคัก และปีนี้ จังหวัดสกลนครก็เตรียมจัดงานใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ก็คือ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและการแข่งขันเรือยาว เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แอร์เอเชีย เพิ่งเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ไปสกลนคร โดยจะให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน เพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารเดินทางไปจังหวัดในอีสานตอนบนแห่งนี้ สะดวกขึ้น เลยเป็นโอกาสดีที่ฉันใช้เวลาไม่มากนัก แค่ชั่วโมงเศษก็เดินทางไปถึงสกลนคร เพื่อเก็บเกี่ยวการเตรียมงานของจังหวัดสกลนคร ในการจัดงาน "ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและการแข่งขันเรือยาว" โดยปีนี้จะมีการจัดขบวนแห่ ในวันที่ 8 ตุลาคม จาก "คอลัมน์ท่องไปกับใจตน" ของ คุณธีรภาพ โลหิตกุล ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เมื่อเดือนก่อน จุดประกายให้อยากไปชมงานนี้ซะจริง ๆ "ศรัทธาในการทำปราสาทผึ้ง ของชาวสกลนครมีมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเมืองหนองหาร เริ่มจากการนำขี้ผึ้งมาทำเป็น "ต้นดอกเผิ่ง" (ต้นผึ้ง) และ "หอเผิ่ง" (หอผึ้ง) เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนผู้ล่วงลับ เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญแจกข้าว ที่มุ่งเน้นแผ่กุศลให้ญาติสนิทที่ถึงแก่กรรม .... ต้นผึ้ง ซึ่งทำจากต้นกล้วยขนาดเล็ก นำมาแต่งลำต้นและก้าน ทำขาหยั่งสามขาช่วยยึดต้นกล้วยให้ตั้งได้ จากนั้น นำขี้ผึ้งมาเคี่ยวให้หลอมเหลวเพื่อใส่ลงในแม่พิมพ์รูปดอกไม้ ผลไม้ เพื่อนำไปประดับประดาเป็นต้นผึ้งที่สวยงาม จากต้นผึ้ง พัฒนาสู่การประดิษฐ์คิดสร้าง "หอผึ้ง" ที่มีความสลับซับซ้อนและต้องใช้ฝีมือระดับสูงขึ้น จากการทำเฉพาะในงานบุญแจกข้าว พัฒนาสู่การทำถวายปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุเชิงชุม ถือว่าได้อานิสงส์สูงส่ง ด้วยเป็นพระธาตุที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาททั้งสี่" (ท่องไปกับใจตน : 10 สิงหาคม 2557) ตำนานเมืองหนองหาร เล่าขานว่า ในแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณภิงคาร ทรงปกครองหนองหารเมื่อหลายร้อยปีก่อน โปรดให้ข้าราชบริพารจัดทำต้นเผิ่ง (ต้นผึ้ง) ในวันออกพรรษา เพื่อแห่แหนไปคบงัน (เฉลิมฉลอง) ที่วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นประจำทุกปี และทำเป็นประเพณีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน การทำต้นผึ้งแต่ละต้นในปัจจุบัน มีลวดลายวิจิตร งดงามอลังการมากขึ้น และใช้เวลาทำไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน โดยในปีนี้ มีชุมชนกว่า 10 ชุม รวมถึงอำเภอรอบนอก ทำต้นผึ้งมาเข้าร่วมขบวนแห่และประกวด ก่อนจะนำไปถวายที่วัดพระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ริมหนองหานในเขตเทศบาลสกลนคร อยู่ปลายสุดของถนนเจริญเมือง ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับหนองหานหลวง ซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบึงบรเพ็ด ที่จ.นครสวรรค์ วัดนี้จัดเป็นศูนย์กลางของเมืองสกลนคร มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานเสมาหินที่พบอยู่รอบ ๆ วัดพระธาตุเชิงชุม และหลักฐานแท่นบูชารูปเคารพ ตลอดจนศิลาจารึกตัว อักษรขอมในพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่ติดผนังทางเข้าภายในอุโมงค์พระธาตุเชิงชุม (ชั้นใน) ซึ่งก่อเป็นสถูปขนาดเล็ก ภายในวิหารหลวงประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีพุทธลักษณะผสมผสานหลายสกุลศิลปะ หน้าตักกว้าง 2 เมตร ความสูงจากหน้าตักถึงยอดเกศ 3.20 เมตร และด้านหลังของพระองค์แสนนี่เองมีทางเชื่อมต่อเข้าไปในตัวพระธาตุเชิงชุมได้ พระธาตุเชิงชุม สร้างครอบรอยพระพุทธบาททั้ง 4 (พระภุกสันโธ, พระโภนาคมโน พระโคตรมะและพระกัสสปะ) จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวสกลนคร รวมถึงชาวพุทธทั่วทุกสารทิศที่เชื่อว่าจะเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตหากได้มากราบสักการะพระธาตุแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระธาตุเชิงชุม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปี พ.ศ.ใด แต่รูปแบบทางศิลปะพัฒนามาจากพระธาตุพนม และได้รับรูปแบบอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้าง บริเวณยอดพระธาตุ สร้างด้วยทองคำถึง 247 บาท สวยงามสุกอร่าม (มีข้อคิดจากผู้เชี่ยวชาญว่า ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้างได้มาปฏิสังขรณ์พระธาตุเชิงชุม พระธาตุพนม พระธาตุอิงฮัง ที่แขวงสุวรรณเขต และพระธาตุศรีโคตรบอง เมืองหนองคาย) ศรัทธาของชาวสกลนคร ไม่ได้อยู่แค่ที่วัดพระธาตุเชิงชุม แต่ยังมีวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง จนเมืองสกลนครได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศรัทธาอีกแห่งก็ว่าได้ วัดป่าสุทธาวาส ก็เป็นอีกแห่งที่ได้ต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมากรายไหว้ ที่นี่เป็นวัดที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หลวงปู่มั่น" ละสังขารที่วัดนี้ ภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภายในอาคารจึงมีอัฐิธาตุและหุ่นขี้ผึ้งจำลองในท่าขัดสมาธิ รวมทั้งยังจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่นด้วย ไม่ไกลกัน มีเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร หรือจันทสารเจติยานุสรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่างแบบพระราชทาน และมีพระกระแสรับสั่งว่า "ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน" นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อยู่ที่ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นวัดธรรมยุตินิกายฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ไปทาง อ.สว่างแดนดิน ก่อนแยกเข้า อ.ส่องดาว ตั้งอยู่ติดกับภูผาเหล็ก อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือ สกลนคร - อุดรธานี และกาฬสินธุ์ (ห่างจากตัวจังหวัด 116 กม.) มาถึงสกลนคร ทั้งที่ ต้องรู้จัก "ของดำ 3 อย่าง"เดี๋ยวจะหาว่าไม่ถึง นั่นก็คือ ไก่ดำ หมูดำ และโคดำ ที่ขึ้นชื่อเป็นที่มาของเนื้อโพนยางคำ ของดำ 3 อย่างนี้ ไปดูง่ายที่สุด ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อยู่ห่างจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ราวๆ 2 กม. ภายในพื้นที่กว้างขวาง มีทั้งแปลงทดลองปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มากมาย แปลงเพาะพันธุ์ปลานิล ไปจนถึงปลาสวยงาม เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร นอกจากนี้ยังเป็นแปลงเพาะพันธุ์ของดำ 3 อย่าง คือ ไก่ดำ หมูดำ และโคดำ แต่ไฮไลน์ที่ใคร ๆ ก็อยากเห็น คือ โคดำ ราคา 10 ล้านบาท เป็นพ่อวัวพันธุ์ โคเนื้อภูพาน ที่ปรับปรุงสายพันธุ์มาจาก วัวทาจิมะเป็นวัวสายพันธุ์หนึ่งของวากิว หรือวัวญี่ปุ่น ที่ผลิตเนื้อเลื่องชื่อ คือเนื้อโกเบ และมัตซูซากะ ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000-20,000 บาท และเนื้อโพนยางคำของไทยเรา ก็มาจากโคเนื้อภูพาน ที่ให้เนื้อนุ่มแสนนุ่มนี่เอง จนวันนี้เขาบอกกันว่า มาถึงถิ่นสกลนครไม่ได้ลิ้มลองเนื้อโพนยางคำ เหมือนมาไม่ถึงกันนะเออ และจากการพัฒนาด้านการเกษตรนี่เอง ได้ข้อมูลจากคุณสมฤดี ชาญชัย ผอ.ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า รายได้ของคนสกลนครส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม ส่วนทองเที่ยวเป็นรายได้รองลงมา ที่สำคัญรายได้ต่อหัว ต่อวัน ตกอยู่ที่ 800 บาท อเมซิ่งสกลนครจริง ๆ อิ่มท้อง อิ่มบุญ และรออิ่มใจกับงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งแห่งสกลนคร ในวันออกพรรษานี้กันนะคะ (ชวนเที่ยว : ศรัทธา ปราสาทผึ้ง ออกพรรษาสกลนคร : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์) |